7.16.2012

นางพญาเมืองเลนที่ทุ่งแสลงหลวง

13 กรกฎาคม 2555
0400 น. เสียงนาฬิกาปลุกแหวกอากาศเข้าไปเขย่าสติที่หลับสนิทมาทั้งคืนให้ตื่นโพลง ตรงตามเวลาที่มะลิตั้งเวลาปลุกเอาไว้ก่อนเข้านอนอย่างแม่นยำ พวกเรารีบลุกขึ้นจากที่นอนหลังจากระลึกความได้ว่าวันนี้เราจะตื่นก่อนสว่าง เพราะจะออกเดินทางไปขี่จักรยานเล่นกับเพื่อนๆ ที่ทุ่งแสลงหลวง
"พ่อ เราออกจากบ้านก่อนตีห้าเลยนะ..."
มะลิจัดแจงโปรแกรมการเดินทางเสร็จสรรพแบบแมเนเจอร์ที่ติดตัวมาจากหนไหนก็ไม่รู้ ได้เลยลูกเพราะพ่อก็ตื่นเต้นพอๆ กับหนูนั่นแหละ การได้ออกไปเที่ยวที่ๆ ยังไม่เคยไปทำให้เราตื่นเ้ต้นเป็นพิเศษ ที่จริงการเดินทางไปต่างจังหวัดทุกครั้งทำให้เราตื่นเต้นได้เสมอ ข้าวของจัดเตรียมไว้พร้อมแล้วตั้งแต่เย็นวานเพื่อป้องกันความผิดพลาด มั่นใจว่างานนี้พร้อมที่สุดไม่มีการป้ำๆ เป๋อๆ ลืมของเด็ดขาด สมุดบันทึก กล้องส่องทางไกล เบิร์ดไกด์ กล้องถ่ายรูป ที่ชาร์จแบต หนังสืออ่านก่อนนอน หมวก นมกล่อง เสื้อผ้า สบู่แชมพู แปรงสีฟัน ยาสีฟัน รองเท้าแตะ ผ้าเช็ดตัว ยาทากันยุง ยาแก้ท้องอืด อาหารที่ทำเตรียมไว้จะไปแชร์กับครอบครัวอื่นๆ เสร็จเรียบร้อย จักรยาน 4 คันสูบลมยางแข็งทุกล้อถูกยกขึ้นแร็คแล้วตั้งแต่บ่าย ทุ่งแสลงหลวงเราพร้อมแล้ว!

เวลาผ่านไปว่องไวปรู๊ดปร๊าด เพราะการเดินทางสะดวกสบายรถน้อยอากาศดีแดดไม่ร้อน เรามาถึงทางแยกเข้าอ.เขาค้อที่จุดเริ่มต้นทางหลวงสาย 2258 แบบยังไม่เหนื่อย  ป่าสองข้างทางของเส้นทางหน้าฝนสวยงามเขียวขจีน่าชื่นใจ แล้วนางช้างแก่รถแลนด์ของเราก็เริ่มฟ้องอายุที่เราชอบแกล้งทำเป็นลืม กว่าจะอุ้ยอ้ายตะกายขึ้นมาถึงยอดเขาค้อเล่นเอาหอบจับ เวลา 11.30 เรามาถึงหน่วยหนองแม่นาโดยสวัสดิภาพและสดชื่นที่สุด

ระหว่างรอเพื่อนเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจึงจัดแจงยกจักรยานลงมาให้ สาวๆ ปั่นเล่น แถวๆ ที่ทำการหน่วยนั่นแหละ ส่วนตัวผมปั่นออกไปหาสัญญาณโทรศัพท์เพื่อติดต่อกับเพื่อนที่ยังมาไม่ถึง ย้อนไปถึงสะพานข้ามคลองหน้าอุทยาน ขาไปลงเนินชมวิวเพลินมาก แถวนั้นเป็นพื้นที่โล่งติดชายน้ำแดดจัดส่องลงบนพื้นหญ้าที่ตัดไว้เรียบร้อย มีโอกาสได้พบกับผีเสื้อหางติ่งปารีสตัวจริงเป็นครั้งแรก สีฟ้าอมเขียวของมันสะท้อนแดดงดงามวิบวับประทับใจจริงๆ


ตามประสาคนไปถึงก่อนก็อยากจะให้ตามมากันเร็วๆ ว่าแล้วจึงจัดแจงโทรไล่ไปทีละบ้าน
"ถึงไหนแล้วครับพี่โหน่ง...อ้าวไปทำไมพิษณุโลก มันอยู่ทางเพชรบูรณ์นะ..." ผมถามพี่โหน่ง
"อือ แต่ใกล้จะถึงพิษณุโลกแล้วหล่ะ อีกไม่นานก็ถึง"พี่โหน่งตอบกลับมาแบบใจเย็น ส่วนผมยังงงอยู่เล็กน้อย

"ตอนนี้แวะซื้อของตรงเินินมหัศจรรย์ ใกล้จะถึงแล้วล่ะ แต่รถมันฮีตน้ำพุ่งเลย ก็เลยจอดรออยู่เนี่ย พ่อหนุ่มขับรถแบบเดียวกันมีอะไรอยากจะแนะนำมั๊ย?" แม่กั้งส่งเสียงแจ้งสถานการณ์ร้อนๆ จนควันขึ้นมาตามสาย
...20 นาทีต่อมา
"ตอนนี้รถวิ่งได้แล้ว แต่รถพ่อแป๋งกับแม่โหน่งกำลังวิ่งหาอู่ เพราะน้ำเดือดควันขึ้นเหมือนกัน!!!..."
อ้าว...ยังไงกันเนี่ยอะไรจะบังเอิญขนาดนั้น รถสองคันนัดฮีตขึ้นมาพร้อมกัน ใจก็เป็นห่วงและเห็นใจ จะเสียดายมากถ้าหากปัญหาหนักหนาจนไม่สามารถเดินทางต่อได้

"พี่แป๋งเป็นไงมั่งครับ ถึงอู่หรือยัง?"
"ถึงแล้ว ตอนแรกขับๆ อยู่เห็นน้ำกระเซ็นขึ้นมา โหน่งบอกว่าเมื่อเช้าล้างรถไง น้ำมันคงกระเด็นขึ้นมาเลยนึกว่าไม่เป็นไร(ฮา)..."
"...?"
"วิ่งไปอีกหน่อย เข็มความร้อนมันชี้ที่ H ถามโหน่งว่าแล้วชี้ที่ H แบบนี้มันยังโอเคอยู่ใช่มั๊ย?(ฮาอีกที)"
"...ฯลฯ..."
แต่ในที่สุดทุกบ้านก็สามารถแก้ปัญหาของตัวเองให้ลุล่วงจนเดินทางมาถึงที่หมายได้ด้วยดี

บ้านเราใช้เวลาช่วงบ่ายวันนั้นทดลองขี่จักรยานเข้าไปตามเส้นทางมุ่งหน้าสู่ทุ่งนางพญา กะว่าขี่เล่นๆ สบายๆ เอาแค่ถึงจุดชมวิวซึ่งเป็นระยะทางราว 4 กิโลเมตร แดดร่มลมตกอากาศดีมากไม่น่ามีปัญหาอะไร พ่อแม่ลูกจึงคว้าจักรยานคู่ใจปั่นแบบเนิบๆ ชมนกชมทุ่งไปเรื่อยๆ อย่างสบายอารมณ์ เส้นทางดินลูกรังสีแดงหม่นตัดผ่านทุ่งหญ้าอ่อนระบัดใบเขียวขจีสวยชื่นใจ เห็นป้ายปักข้างทางบอกว่าเป็นพื้นที่ชิงเผาเพื่อป้องกันไฟป่าและสำหรับให้สัตว์ได้กินหญ้าอ่อน พอห่างจากด่านชำระเงินค่าธรรมเนียมมาได้สักพัก พื้นถนนช่วงที่เป็นแอ่งยังพอมีความชื้นดินจึงนุ่มเราสังเกตเห็นรอยตีนสัตว์มากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์มีกีบ คงจะเป็นสัตว์จำพวกกวางป่า มีหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่ เจ้าของรอยน่าจะเดินหากินหญ้าอ่อนเมื่อเช้านี้ เพราะร่องรอยยังชัดเจนและสมบูรณ์อยู่มาก คิดว่าถ้าไม่มีอะไรไปรบกวนเจ้ากวางก็คงอยากเปลี่ยนบรรยากาศออกมาเดินทอดน่องบนถนนโล่งๆ เหมือนกัน นอกจากรอยกวางแล้ว เรายังเห็นรอยสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กป้วนเปี้ยนไม่ไกลจากรอยกวางเช่นกัน

14 กรกฎาคม 2555
ตื่นเช้าขึ้นมาอย่างสดชื่นเต็มที่ หลังอาหารเช้าพวกเราจัดแจงทุบหม้อข้าวทิ้งแล้วรวมพลขึ้นคร่อมรถจักรยานอย่างครึกครื้น มื้อต่อไปของเราอยู่ที่จุดกางเตนท์ทุ่งนางพญาเมืองเลน แก็งค์จักรยาน 20 กว่าคันซึ่งประกอบไปด้วยเด็กเล็กเด็กโตและพ่อแม่ก็ปั่นกันยิก แววตาและสีหน้าบอกความสดใสมุ่งมั่น จักรยานคันเล็กคันใหญ่ทะยอยตามกันเรียงรายเข้าไปในทุ่งเกิดเป็นภาพที่สวยงามที่สุดภาพหนึ่ง เป็นขบวนคาราวานสองล้อหลายวัยตั้งแต่ 6 ขวบไปยัน 50 กว่าๆ โกลาหลอลหม่านและมีสีสันที่สุด










6.20.2012

สืบค้นต้นน้ำ สายน้ำและสรรพชีวิต อช.ปางสีดา


 “สืบค้นต้นน้ำสายน้ำและสรรพชีวิต” คือกิจกรรมการเรียนรู้ที่กลุ่มครอบครัวกลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติได้จัด ขึ้นโดยการสนับสนุนเงินทุนจากสสค. เพื่อการศึกษาความสำคัญของระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำและความสัมพันธ์กับ ปริมาณน้ำในธรรมชาติที่ส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของสรรพชีวิต การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสำรวจระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำบริเวณห้วยน้ำเย็นในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดาจังหวัดสระแก้วอันเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำสำคัญที่ไหลรวมลงไปเป็นแม่น้ำบางปะกง เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าต้นน้ำตัวอย่างที่โครงการนี้ได้เลือกทำการศึกษาและเป็นกิจกรรมคร้ังแรกที่ครอบครัวของเราได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และลงศึกษาเก็บข้อมูลในสถานที่จริง จากนี้จะเป็นการรวบรวมและถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ผ่านการทำบันทึกตามลำดับเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2555


บ้านเรียนมะลิ-ขมิ้น


3 พฤษภาคม 2555 
ถนนต้นไม้สวย
ตั้งนาฬิกาให้ปลุกตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ตั้งใจว่าจะออกเดินทางได้ก่อนตีห้าครึ่งแต่เราออกจากบ้านได้ตอนหกโมงเช้าพอดี จากบ้านรังสิตถึงสระแก้วน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงแล้วไปแวะหาอะไรกินแถวๆ ในเมืองสระแก้วน่าจะพอดีกับเวลานัดหมาย เส้นทางจากรังสิตมุ่งหน้านครนายกในเช้าวันนั้นถนนโล่งอากาศสดใสรถน้อยมาก เป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่ดีจริงๆ สองข้างทางจากนครนายก-ปราจีนบุรีเต็มไปด้วยต้นไม้และสีเขียวของต้นไม้ชวนชื่นใจ เหลือบไปเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ของทางการมีข้อความประมาณว่ายินดีต้อนรับสู่ถนนสายต้นไม้สวยรู้สึกดีใจที่ยังมีคนคิดเอาต้นไม้มาชูเป็นประเด็นหลักในการประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น แสดงว่าคนที่นี่เห็นความสำคัญของตันไม้ มีร้านขายต้นไม้เรียงรายสองข้างทาง ที่นี่คงเป็นแหล่งทำต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เราเคยถามพ่อค้าแม่ค้าขายต้นไม้ที่จตุจักรวันพุธ-พฤหัสพบว่าจำนวนไม่น้อยมาจากปราจีนฯหรือไม่ก็รับซื้อมาจากสวนทีนี่กันทั้งนั้น ดินดำน้ำชุ่มผู้คนรู้ว่าท้องถิ่นตัวเองมีอะไรดีและเห็นคุณค่าน่ายินดีจริงๆ

 ขับรถยังไม่ทันเมื่อยเราก็มาถึงสระแก้วแวะกินเข้าเช้าที่ตลาด 30 นาทีเห็นป้ายทางเข้าน้ำตกปางสีดาชี้เข้าไปในซอยแคบๆ ใกล้ตลาดในใจนึกว่าเมืองหลวงของผีเสื้อเมืองไทยอยู่ใกล้ตลาดนิดเดียวเอง อืม...มันจะเป็นยังไงนะ? จากปากทางเข้าขับรถมาเรื่อยๆ ชุมชนเริ่มบางตาลงแล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นไร่นาก่อนกลับมาเป็นชุมชนอีกครั้ง คราวนี้เป็นแบบร้านค้าร้านอาหารดักนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหน้าร้านประดับเฟื่องฟ้าสีชมพูกระรุ่งกระริ่งในกระถางวางซ้าย-ขวาทางเข้าตามสูตรเป๊ะ จนกระทั่งผ่านเข้ามาในเขตอุทยานจริงๆ แล้วนั่นแหละถึงค่อยดูเป็นป่าขึ้นมาหน่อย ซ้ายมือข้างป้อมเจ้าหน้าที่อุทยานกำลังนั่งคุยเล่นกับลูกเล็กๆ ตามสบายรอคนมาเที่ยวป่า เราจอดรถเพื่อชำระค่าบำรุงอุทยานแล้วสอบถามทางไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอันเป็นจุดนัดพบของเรา

เงียบสงัดดังคาด 10โมงเช้าวันพุธไม่มีนักท่องเที่ยว สนใจมาเที่ยวป่ากันซักคน แวะเข้าไปทักทายเจ้าหน้าที่ใน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสอบถามเรื่องบ้านพักที่คณะของเราจองเอาไว้ถึงได้รู้ว่าบ้านแม่กั้งมาถึงแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ระหว่างที่รอคนอื่นๆ ทะยอยตามกันมาจนครบจึงชวนพี่่ที่ศูนย์คุยจนได้ประวัติความเป็นมาและลักษณะทางกายภาพของอช.ปางสีดาแบบคร่าวๆ พอได้ความรู้เบื้องต้นของพื้นที่ที่เราจะเข้ามาทำการศึกษา พบว่าที่นี่คือพื้นที่ผืนป่าขนาดใหญ่ราว 5 แสนไร่ต่อเนื่องกับอช.เขาใหญ่ ทับลาน ดงใหญ่ และตาพระยา เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มากมีสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่นช้าง วัวแดง กระทิงซึ่งมีอยู่มากมายชุกชุม นอกจากนั้นยังมีสัตว์นักล่าอย่างเสือนานาชนิด ภายในศูนย์มีรอยพิมพ์พลาสเตอร์รอยตีนสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ทำเอาไว้ให้ชม รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากรอยเท้าเสือโคร่งขนาดใหญ่กว้างประมาณ 5 นิ้วมีมากมาย  นอกจากนั้นบริเวณห้วยน้ำเย็นยังสำรวจพบว่าเป็นแหล่งจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติแหล่งสุดท้ายอีกด้วย โอ...ได้บรรยากาศมากเลย ซึ่ง ห้วยน้ำเย็นนี้เองคือบริเวณที่เราจะเข้าไปทำการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชและความสมบูรณ์ของหน้าดินตลอดจนความหนาแน่นของชั้นเรือนยอดของต้นไม้อันเป็นภารกิจหลักในการศึกษาครั้งนี้

 หลังจากที่คณะผู้ร่วมกิจกรรมเดินทางกันมาครบ พ่อนกกล่าวเปิดงานพร้อมกับแจกแจงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 3 วันนี้ หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมคุณธรรมนำชีวิตที่แม่กั้งและพ่อป้อมเตรียมมาสำหรับพวกเราทุกคน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการนำคุณธรรมต่างๆ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นตัวเราที่เรายึดถือไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามมาแสดงให้เห็นให้ชัดเจนขึ้น น่าสนใจมาก เข้าใจว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้น่าจะได้ประโยชน์และเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก่อนออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานน้าเกรียงได้แนะนำข้อมูลของอุทยานและความสำคัญของพื้นที่ป่าต้นน้ำแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังอาหารเที่ยงมื้อนั้นพ่อนกเตรียมกิจกรรมกลุ่มให้เด็กๆ ได้ร่วมกันวาดป่าด้วยพู่กันจีน ได้รับความสนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างมาก เสร็จกิจกรรมอุ่นเครื่องให้เด็ก น้าเกรียงและพ่อนกพาเราเข้าป่าบริเวณเทรลหลังบ้านพักเพื่อไปดูการสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ในการวัดกำหนดขนาดพื้นที่ที่จะทำสำรวจตลอดจนวิธีการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดในพื้นที่ป่าจริงๆ จะได้เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตรงกันอันจะมีผลต่อความถูกต้อง ความละเอียดและความแม่นยำของข้อมูล จบกิจกรรมในบ่ายอันร้อนระอุตามสไตล์ป่า ดิบแล้งต้นเดือนพฤษภาลงเท่านี้ นัดหมายเวลารวมพลวันรุ่งขิ้นเพื่อทำการสำรวจเวลา 7 โมงก่อนแยกย้ายกันเข้าที่พักครับ


4 พฤษภาคม 2555  
To the Jungle
หลังจากผ่านวิกฤติการน้ำในบ้านพักไม่ไหลมาได้อย่างกระเบียดกระเสียรเรียกได้ว่าเห็นความสำคัญของน้ำท่าขึ้นมาทันทีทันควัน เป็นของจริงที่จับต้องได้ที่สุดเลยเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ด้วยความสดชื่น แม้ว่าจะนอน หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน อากาศเช้าในป่าปางสีดาเย็นสบายต่างจากรังสิตคนละโลก เหมือนป่าทั้งผืนรอให้เราเข้าไปทำความรู้จัก ตื่นเช้ามาป่าก็อ้าวงแขนกว้างโอบต้อนรับคนตัวเล็กๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ด้วยความสดชื่น

เรียบร้อยจากอาหารเช้าและตระเตรียมอาหารกลางวันสำหรับเข้าไปกินในป่าแล้ว แม่กั้งรอบคอบแนะนำเราตั้งแต่ก่อนออกเดินทางมาที่นี่ให้เตรียมภาชนะส่วนตัวมาใส่อาหารกลางวันด้วย เพราะไม่อย่างนั้นแม่ครัวคงจำเป็นจะต้องจัดอาหารของเราลงกล่องโฟมตามเคย คือสิ่งละอันพันละน้อยที่เราทำได้ รู้แล้วก็นำไปใช้ให้เป็นนิสัย จริงอยู่โลกใบนี้อาจเจ็บป่วยมากเกินกว่าการช่วยลดการใช้กล่องโฟมหรือขยะพลาสติกจากคนกลุ่มเล็กๆ จะช่วยเยียวยาให้เห็นผลชัดเจน มีใครซักคนพูดว่า "บางทีเราอาจจะเปลี่ยน แปลงโลกไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้" มีหลายครั้งที่การเริ่มต้นของคนเล็กๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่โลกต้องจดจำ

 เราเดินทางมาถึงหน่วยปด. 5 ก่อนเวลา 8 โมงเช้าเล็กน้อย ที่นั่นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลถูกแจกจ่ายให้กลุ่มครอบครัว เมื่อทุกคนพร้อมพ่อนกและน้าเกรียงนำคณะของเราออกเดินทางไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยน้ำเย็น เป้าหมายของภารกิจในวันนี้คือการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชในพื้นที่ตัวอย่างขนาด 30 ตารางเมตร จดบันทึก ขนาดเส้นรอบวง ความสูงและจำนวนของพรรณพืชที่พบอย่างละเอียดโดยจำแนกประเภทของพรรณพืชออกเป็นกลุ่มไม้ยืนต้น ไม้พุ่มและไม้ล้มลุก พวกเราจะต้องทำการบันทึกภาพตัวอย่างใบ ลักษณะทรงพุ่มเรือนยอดและ สเกตช์ภาพประกอบไปด้วย นอกจากนั้นก็จะเป็นการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของชั้นอินทรีย์วัตถุที่สะสมอยู่บนหน้าดินโดยการ สุ่มขุดหน้าดินเพื่อวัดความหนาของชั้นอินทรีย์วัตถุนั้น จากนั้นเราจะต้องสังเกตและบันทึกลักษณะทางกายภาพของลำห้วยที่ทอดตัวขนานไปกับพื้นที่ที่เราทำการสำรวจ รูปร่างเป็น อย่างไรมีน้ำหรือไม่ ลักษณะของน้ำเป็น อย่างไร ใสหรือขุ่นไหลหรือนิ่ง มีองค์ประกอบอะไรบ้างเช่น มีก้อนหินหรือสิ่งกีดขวางที่ชะลอการไหลของน้ำหรือไม่เป็นต้น และสุดท้ายเป็นการบันทึกความหลากหลายหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่พบในบริเวณที่รับผิดชอบ มีตัวอะไรบ้างเสือหมีช้างกระทิงยี ราฟฯลฯ พบเห็นอะไรถ่ายภาพได้ให้ถ่ายมา หรือไม่เห็นตัวเจอแต่อึก็ถ่ายอึ เรียกว่าอย่าให้รอดสายตาไปได้ ทั้งหมดที่ว่ามานี้มีเวลาให้ถึงเที่ยงวัน!

 เพราะการบริหารเวลาให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มการเรียนรู้ของเราเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กๆเป็นผู้นำ ดังนั้นต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ หากเนิ่นนานมากไปกว่านี้คุณลูกๆ คงเบื่อและอาจไม่ยอมร่วมมือ ดังนั้นเวลาในช่วงบ่ายจึงจัดไว้สำหรับการนำข้อมูลดิบที่ได้มาแปรเป็น "ข้อมูลสุก" และนำเสนอให้เป็นข้อมูลร่วมเพื่อที่จะได้นำข้อมูลของเรามาปะติดปะต่อกับข้อมูลของกลุ่มอื่นๆ จนเกิดเป็นภาพใหญ่ที่มีนัยยะสำคัญของสิ่งที่เรามาเรียนรู้กันในครั้งนี้
   
พอถึงบริเวณที่ถูกเลือกเอาไว้ก่อนหน้าพวก เราแต่ละกลุ่มก็ทำการจับจองพื้นที่ 6x5 เมตรของตนให้เป็นที่พอใจแล้วเริ่มลงมือทำการสำรวจและบันทึกตามขั้นตอนและวิธีการที่ซักซ้อมกันมาอย่างดีทันที น่าแปลกใจมากที่พื้นที่ 30 ตรม.ซึ่งไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เมื่อเรานั่งลงให้เวลาและสังเกต กลับพบว่ามีรายละเอียดมากมายน่ามหัศจรรย์ 30ตรม.ในตอนนี้ใหญ่เกินไปเสียแล้ว เพราะทุกตารางนิ้วคือชีวิต ถ้าไม่ใช่ต้นไอ้นั่นก็ตัวไอ้นี่เป็นสังคมขนาดเล็กที่ใหญ่มหึมา ดูเหมือนว่าทุกต้นทุกตัวทุกซอกหลืบแสงเงามีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง มีชีวิต มีเรื่องที่ต้องทำ มีความสัมพันธ์กัน ฉันกินแก แกกินฉัน ฉันอึเอาไว้ตรงนี้แกไม่ว่าอะไรนะ เออไม่เป็นไรฉันชอบอึ ของแก อากาศทำไมมันร้อนอย่างนี้ว่ะ นี่โชคดีนะที่เมื่อวานซืนฝนเทลงมา ไม่งั้นฉันคงไม่มีแรงแทงรากลงดิน 

เอะอะ อึกทึก สับสนอลหม่าน...
อย่างเงียบเชียบ...
กิน เกิด ตาย มืด สว่าง...
อย่างสมดุล...

ครอบครัวของเราแบ่งงานกันทำตามความถนัด หลังจากขึงเชือกกำำหนดอาณาเขตเป็นที่เรียบร้อยแล้วพ่อเป็นคนวัดขนาดของต้นไม้โดยวัดเส้นรอบ วงของต้นไม้ที่ความสูงจากโคนต้น 130 ซม. จากนั้นประมาณความสูงของต้นคร่าวๆ พี่มะลิเป็นคนบันทึกข้อมูลรวมทั้งพลอตตำแหน่งของต้นไม้ลงบนตารางจำลองพื้นที่ ส่วนขมิ้นเป็น visualizer วาดภาพลักษณะของต้นไม้นั้นๆ เพื่อใช้ประกอบข้อมูลส่วนแม่ทำหน้าที่ snap ภาพรายละเอียดต่างๆรวมทั้งบรรยากาศการทำงานโดยรวมอีกทีหนึ่ง


สภาพป่าหนาแน่นที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า เมื่อพิจารณาจำแนกประเภทพรรณไม้ตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่าพื้นที่รับผิดชอบของเรามีไม้ยืนต้นเพียง 4 ต้นและมีเพียงต้นเดียวที่เป็นไม้ใหญ่ที่มีเส้นรอบวงมากกว่า 30 ซม. นอกจากนั้นเป็นไม้พุ่มซึ่งมีความสูงน้อยกว่า 3 เมตรจำนวนไม่ถึง 20ต้น ที่มีจำนวนมากที่สุดได้แก่ลูกไม้ที่ยังมีขนาดเล็กสูงไม่เกินหัวเข่าขึ้นเบียดเสียดปกคลุมหน้าดิน เราคำนวณคร่าวๆ ได้ราว 600 ต้น เมื่อประกอบเข้าด้วยกันก่อให้เกิดเป็นลักษณะเรือนยอดหลายระดับชั้นลดหลั่นตามธรรมชาติของชนิดพรรณไม้และอายุ แหงนหน้าขึ้นมองดูฟ้าเห็นแผงสีเขียวกระจายตัวกันหนาแน่นปกคลุมทั่วพื้นที่โดยยอมให้แดดส่องลงมาเป็นหย่อมกระจายตัวบนพื้นป่า หากกะด้วยสายตาคงจะราว 70%-80%ที่เป็นร่มเงา พิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าทุกชีวิตปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อม แสง น้ำ อาหาร รวมถึงชีวิตอื่นๆที่แวดล้อม เกิดเป็นระบบที่ดูเหมือนไม่มีระเบียบ ยิ่ง ใหญ่แต่อ่อนโยนและบอบบางมาก 30 ตารางเมตรที่ยืนอยู่นี้คือความเป็นจริงของพื้นที่ 5 แสนไร่ของป่าปางสีดาและผืนป่าดงพญาเย็น หากซูมภาพให้ไกลออกมาอีก โลกทั้งใบก็คงไม่ได้แตกต่างไปจากนี้
 
     
หลังจากใช้เวลากันเต็มที่ก็ถึงเวลาพักกินอาหารกลางวันที่เตรียมเข้าไปตั้งแต่เช้า ใช้เวลาช่วงสั้นๆ แล้วรีบเก็บข้อมูลต่อจนครบถ้วนกระบวนความที่เวลาราวบ่ายโมงพอดี เรากลับออกมาล้างหน้าล้างตาพักเหนื่อยที่บ้านพักครู่ใหญ่ๆ ก่อนจะไปรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดระเบียบข้อมูลดิบที่ได้บันทึกมา ก่อนแปลงข้อมูลเป็นภาพแผนภูมิแสดงตำแหน่งและความหนาแน่นของพรรณไม้ให้ดูเข้าใจง่ายและสวยงามตามจินตนาการของแต่ละกลุ่ม  บรรยากาศการทำงานอบอวลด้วยมิตรภาพสนุกสนานอบอุ่น มีบลัฟกันเล็กน้อยเพื่อสร้างความเฮฮาจนกระทั่งจบวัน พรุ่งนี้เช้าวันสุดท้ายของทริปเราจะมาคุยกันถึงกิจกรรมที่ร่วมกันทำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการและปัญหาที่พบในการทำงานรวมถึงนำเสนอผลงานของตนเอง



5 พฤษภาคม 2555 
นอนหลับสบายดี
รู้สึกตัวตั้งแต่ฟ้าสาง แต่ยังอยากนอนเล่นฟังเสียงนกที่ไม่เคยได้ยินมาร้องเพลงให้ฟังที่หลังบ้านอีกซักพัก เช้านี้แม่จิ๋มและจิโร่แวะมาร่ำลาเพื่อนฝูงเพราะต้องแยกตัวเดินทางไปภูเขียวแต่เช้าตรู่ ขับรถคนเดียวลุยเดี่ยวพาลูกชายตัวเล็กไปชัยภูมิเก่งจริงๆ หลังทานอาหารเช้าเรียบร้อยที่ร้านของอุทยาน ก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมสืบค้นต้นน้ำที่ป่าปางสีดาในครั้งนี้ พวกเราผลัดกันนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติต่างๆ ผลงานที่ทำออกมาสำเร็จแล้วนั้นสวยงามน่าดูทุกกลุ่ม สามารถนำมาเรียงต่อกันเพื่อให้เกิดเป็นภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นและหลากหลายของพรรณไม้ได้อย่างน่าสนใจ

ปิดท้ายกิจกรรมสืบค้นต้นน้ำที่ห้วยน้ำเย็นอุทยานแห่งชาติปางสีดาด้วยความสำเร็จตามเป้าหมาย(ของเราเอง) ครอบครัวของเราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของพื้นที่ต้นน้ำและความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำท่า มองเห็นทั้งรายละเอียดและภาพรวม น้ำแล้งเพราะอะไร น้ำท่วมเพราะอะไร และน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เพราะอะไร ได้เห็นที่มาของน้ำ เปิดก็อกน้ำแล้วนึกออกชัดเจนว่าน้ำมาจากไหน เป็นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เกิดเป็นความรู้และความเข้าใจอย่างที่การอ่านหรือการฟังคำบอกเล่าไม่สามารถให้ได้

สำหรับลูกๆสิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นโอกาสในการซึบซับความเข้าใจใหม่ๆ ด้วยความหวังว่า ประสบการณ์ใหม่ครั้งนี้จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ในจิตใจและเกิดเป็นความประทับใจที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นสำนึกรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมของเขา เพราะได้เห็นตามความเป็นจริงที่ว่าเราคือส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาตินี้ เราไม่ได้มีความแตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ที่มีหน้าที่ของตัวเองในการดำรงชีวิต แต่ต้องเป็นการดำรงชีวิตที่อยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเราจะขึ้นและลงไปกับพร้อมกับธรรมชาติอย่างแน่นอน เราพร้อมและตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับออกไปสู่วงสังคมที่กว้างขึ้น ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ขอบคุณกลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติิสำหรับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากเหลือเกิน ขอบคุณพ่อนกแม่กั้งน้าเกรียงสำหรับความเสียสละในการทำงานและความมุ่งมั่นที่ทุกคนมี ขอบคุณทุกครอบครัวและครอบครัวของเราเองที่ทำให้เราได้มาพบกัน และขอบคุณสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนที่ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ขึ้นครับ

บ้านเรียนมะลิ-ขมิ้น






ภาพถ่ายแสดงการปกคลุมของเรือนยอด ถ่ายจากจุดกึ่งกลางของพื้นที่ที่ทำการเก็บข้อมูล มีความหนาแน่นของเรือนยอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์


ข้อมูลพรรณไม้
เชิงปริมาณ
1. พื้นที่หน้าตัดเท่ากับ 425 ตร.ซม. โดยไม่คิดลูกไม้ที่มีความสูงไม่เกิน 30 ซม.
ผลรวมจำนวนพรรณไม้ประมาณ 600 ต้น
ผลรวมจำนวนชนิดพรรณไม้ประมาณ 50 ชนิด
โดยมีการปกคลุมของเรือนยอดหนาแน่นประมาณ70-80 เปอร์เซ็นต์
2. ค่าเฉลี่ยความหนาของชั้นอินทรีย์วัตถุที่ปกคลุมดิน 2.8 ซ.ม.
3. ลำห้วยประกอบไปด้วยก้อนหินหลากหลายขนาดทอดตัวไปตาม ความคดเคี้ยวของลำห้วยมีเศษใบไม้กิ่งไม้ปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวน
มาก น่าจะสามารถชะลอการไหลของน้ำได้ดี
4. สิ่งมีชีวิต จำนวนชนิดความหลากหลาย 11 ชนิด
ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด

เชิงคุณภาพ
ประกอบไปด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด และหลากหลายขนาด ทำให้เกิดเป็นเรือนยอดที่ลดหลั่นกันหลายระดับ โดยมีความหนาแน่น ของเรือนยอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ บนพื้นป่ามีการทับถมของอินทรีย์วัตถุมากมายรวมทั้งมีพืชขนาดเล็กปกคลุมดินอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการลดแรงปะทะของน้ำฝนและช่วยชะลอการไหลของน้ำบนผิวดินได้เป็น
อย่างดี นอกจากนั้นยังสามารถพบเห็นร่องรอยของสัตว์หลากหลาย ขนิดซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์