6.20.2012

สืบค้นต้นน้ำ สายน้ำและสรรพชีวิต อช.ปางสีดา


 “สืบค้นต้นน้ำสายน้ำและสรรพชีวิต” คือกิจกรรมการเรียนรู้ที่กลุ่มครอบครัวกลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติได้จัด ขึ้นโดยการสนับสนุนเงินทุนจากสสค. เพื่อการศึกษาความสำคัญของระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำและความสัมพันธ์กับ ปริมาณน้ำในธรรมชาติที่ส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของสรรพชีวิต การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสำรวจระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำบริเวณห้วยน้ำเย็นในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดาจังหวัดสระแก้วอันเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำสำคัญที่ไหลรวมลงไปเป็นแม่น้ำบางปะกง เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าต้นน้ำตัวอย่างที่โครงการนี้ได้เลือกทำการศึกษาและเป็นกิจกรรมคร้ังแรกที่ครอบครัวของเราได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และลงศึกษาเก็บข้อมูลในสถานที่จริง จากนี้จะเป็นการรวบรวมและถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ผ่านการทำบันทึกตามลำดับเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2555


บ้านเรียนมะลิ-ขมิ้น


3 พฤษภาคม 2555 
ถนนต้นไม้สวย
ตั้งนาฬิกาให้ปลุกตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ตั้งใจว่าจะออกเดินทางได้ก่อนตีห้าครึ่งแต่เราออกจากบ้านได้ตอนหกโมงเช้าพอดี จากบ้านรังสิตถึงสระแก้วน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงแล้วไปแวะหาอะไรกินแถวๆ ในเมืองสระแก้วน่าจะพอดีกับเวลานัดหมาย เส้นทางจากรังสิตมุ่งหน้านครนายกในเช้าวันนั้นถนนโล่งอากาศสดใสรถน้อยมาก เป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่ดีจริงๆ สองข้างทางจากนครนายก-ปราจีนบุรีเต็มไปด้วยต้นไม้และสีเขียวของต้นไม้ชวนชื่นใจ เหลือบไปเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ของทางการมีข้อความประมาณว่ายินดีต้อนรับสู่ถนนสายต้นไม้สวยรู้สึกดีใจที่ยังมีคนคิดเอาต้นไม้มาชูเป็นประเด็นหลักในการประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น แสดงว่าคนที่นี่เห็นความสำคัญของตันไม้ มีร้านขายต้นไม้เรียงรายสองข้างทาง ที่นี่คงเป็นแหล่งทำต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เราเคยถามพ่อค้าแม่ค้าขายต้นไม้ที่จตุจักรวันพุธ-พฤหัสพบว่าจำนวนไม่น้อยมาจากปราจีนฯหรือไม่ก็รับซื้อมาจากสวนทีนี่กันทั้งนั้น ดินดำน้ำชุ่มผู้คนรู้ว่าท้องถิ่นตัวเองมีอะไรดีและเห็นคุณค่าน่ายินดีจริงๆ

 ขับรถยังไม่ทันเมื่อยเราก็มาถึงสระแก้วแวะกินเข้าเช้าที่ตลาด 30 นาทีเห็นป้ายทางเข้าน้ำตกปางสีดาชี้เข้าไปในซอยแคบๆ ใกล้ตลาดในใจนึกว่าเมืองหลวงของผีเสื้อเมืองไทยอยู่ใกล้ตลาดนิดเดียวเอง อืม...มันจะเป็นยังไงนะ? จากปากทางเข้าขับรถมาเรื่อยๆ ชุมชนเริ่มบางตาลงแล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นไร่นาก่อนกลับมาเป็นชุมชนอีกครั้ง คราวนี้เป็นแบบร้านค้าร้านอาหารดักนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหน้าร้านประดับเฟื่องฟ้าสีชมพูกระรุ่งกระริ่งในกระถางวางซ้าย-ขวาทางเข้าตามสูตรเป๊ะ จนกระทั่งผ่านเข้ามาในเขตอุทยานจริงๆ แล้วนั่นแหละถึงค่อยดูเป็นป่าขึ้นมาหน่อย ซ้ายมือข้างป้อมเจ้าหน้าที่อุทยานกำลังนั่งคุยเล่นกับลูกเล็กๆ ตามสบายรอคนมาเที่ยวป่า เราจอดรถเพื่อชำระค่าบำรุงอุทยานแล้วสอบถามทางไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอันเป็นจุดนัดพบของเรา

เงียบสงัดดังคาด 10โมงเช้าวันพุธไม่มีนักท่องเที่ยว สนใจมาเที่ยวป่ากันซักคน แวะเข้าไปทักทายเจ้าหน้าที่ใน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสอบถามเรื่องบ้านพักที่คณะของเราจองเอาไว้ถึงได้รู้ว่าบ้านแม่กั้งมาถึงแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ระหว่างที่รอคนอื่นๆ ทะยอยตามกันมาจนครบจึงชวนพี่่ที่ศูนย์คุยจนได้ประวัติความเป็นมาและลักษณะทางกายภาพของอช.ปางสีดาแบบคร่าวๆ พอได้ความรู้เบื้องต้นของพื้นที่ที่เราจะเข้ามาทำการศึกษา พบว่าที่นี่คือพื้นที่ผืนป่าขนาดใหญ่ราว 5 แสนไร่ต่อเนื่องกับอช.เขาใหญ่ ทับลาน ดงใหญ่ และตาพระยา เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มากมีสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่นช้าง วัวแดง กระทิงซึ่งมีอยู่มากมายชุกชุม นอกจากนั้นยังมีสัตว์นักล่าอย่างเสือนานาชนิด ภายในศูนย์มีรอยพิมพ์พลาสเตอร์รอยตีนสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ทำเอาไว้ให้ชม รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากรอยเท้าเสือโคร่งขนาดใหญ่กว้างประมาณ 5 นิ้วมีมากมาย  นอกจากนั้นบริเวณห้วยน้ำเย็นยังสำรวจพบว่าเป็นแหล่งจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติแหล่งสุดท้ายอีกด้วย โอ...ได้บรรยากาศมากเลย ซึ่ง ห้วยน้ำเย็นนี้เองคือบริเวณที่เราจะเข้าไปทำการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชและความสมบูรณ์ของหน้าดินตลอดจนความหนาแน่นของชั้นเรือนยอดของต้นไม้อันเป็นภารกิจหลักในการศึกษาครั้งนี้

 หลังจากที่คณะผู้ร่วมกิจกรรมเดินทางกันมาครบ พ่อนกกล่าวเปิดงานพร้อมกับแจกแจงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 3 วันนี้ หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมคุณธรรมนำชีวิตที่แม่กั้งและพ่อป้อมเตรียมมาสำหรับพวกเราทุกคน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการนำคุณธรรมต่างๆ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นตัวเราที่เรายึดถือไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามมาแสดงให้เห็นให้ชัดเจนขึ้น น่าสนใจมาก เข้าใจว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้น่าจะได้ประโยชน์และเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก่อนออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานน้าเกรียงได้แนะนำข้อมูลของอุทยานและความสำคัญของพื้นที่ป่าต้นน้ำแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังอาหารเที่ยงมื้อนั้นพ่อนกเตรียมกิจกรรมกลุ่มให้เด็กๆ ได้ร่วมกันวาดป่าด้วยพู่กันจีน ได้รับความสนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างมาก เสร็จกิจกรรมอุ่นเครื่องให้เด็ก น้าเกรียงและพ่อนกพาเราเข้าป่าบริเวณเทรลหลังบ้านพักเพื่อไปดูการสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ในการวัดกำหนดขนาดพื้นที่ที่จะทำสำรวจตลอดจนวิธีการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดในพื้นที่ป่าจริงๆ จะได้เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตรงกันอันจะมีผลต่อความถูกต้อง ความละเอียดและความแม่นยำของข้อมูล จบกิจกรรมในบ่ายอันร้อนระอุตามสไตล์ป่า ดิบแล้งต้นเดือนพฤษภาลงเท่านี้ นัดหมายเวลารวมพลวันรุ่งขิ้นเพื่อทำการสำรวจเวลา 7 โมงก่อนแยกย้ายกันเข้าที่พักครับ


4 พฤษภาคม 2555  
To the Jungle
หลังจากผ่านวิกฤติการน้ำในบ้านพักไม่ไหลมาได้อย่างกระเบียดกระเสียรเรียกได้ว่าเห็นความสำคัญของน้ำท่าขึ้นมาทันทีทันควัน เป็นของจริงที่จับต้องได้ที่สุดเลยเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ด้วยความสดชื่น แม้ว่าจะนอน หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน อากาศเช้าในป่าปางสีดาเย็นสบายต่างจากรังสิตคนละโลก เหมือนป่าทั้งผืนรอให้เราเข้าไปทำความรู้จัก ตื่นเช้ามาป่าก็อ้าวงแขนกว้างโอบต้อนรับคนตัวเล็กๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ด้วยความสดชื่น

เรียบร้อยจากอาหารเช้าและตระเตรียมอาหารกลางวันสำหรับเข้าไปกินในป่าแล้ว แม่กั้งรอบคอบแนะนำเราตั้งแต่ก่อนออกเดินทางมาที่นี่ให้เตรียมภาชนะส่วนตัวมาใส่อาหารกลางวันด้วย เพราะไม่อย่างนั้นแม่ครัวคงจำเป็นจะต้องจัดอาหารของเราลงกล่องโฟมตามเคย คือสิ่งละอันพันละน้อยที่เราทำได้ รู้แล้วก็นำไปใช้ให้เป็นนิสัย จริงอยู่โลกใบนี้อาจเจ็บป่วยมากเกินกว่าการช่วยลดการใช้กล่องโฟมหรือขยะพลาสติกจากคนกลุ่มเล็กๆ จะช่วยเยียวยาให้เห็นผลชัดเจน มีใครซักคนพูดว่า "บางทีเราอาจจะเปลี่ยน แปลงโลกไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้" มีหลายครั้งที่การเริ่มต้นของคนเล็กๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่โลกต้องจดจำ

 เราเดินทางมาถึงหน่วยปด. 5 ก่อนเวลา 8 โมงเช้าเล็กน้อย ที่นั่นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลถูกแจกจ่ายให้กลุ่มครอบครัว เมื่อทุกคนพร้อมพ่อนกและน้าเกรียงนำคณะของเราออกเดินทางไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยน้ำเย็น เป้าหมายของภารกิจในวันนี้คือการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชในพื้นที่ตัวอย่างขนาด 30 ตารางเมตร จดบันทึก ขนาดเส้นรอบวง ความสูงและจำนวนของพรรณพืชที่พบอย่างละเอียดโดยจำแนกประเภทของพรรณพืชออกเป็นกลุ่มไม้ยืนต้น ไม้พุ่มและไม้ล้มลุก พวกเราจะต้องทำการบันทึกภาพตัวอย่างใบ ลักษณะทรงพุ่มเรือนยอดและ สเกตช์ภาพประกอบไปด้วย นอกจากนั้นก็จะเป็นการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของชั้นอินทรีย์วัตถุที่สะสมอยู่บนหน้าดินโดยการ สุ่มขุดหน้าดินเพื่อวัดความหนาของชั้นอินทรีย์วัตถุนั้น จากนั้นเราจะต้องสังเกตและบันทึกลักษณะทางกายภาพของลำห้วยที่ทอดตัวขนานไปกับพื้นที่ที่เราทำการสำรวจ รูปร่างเป็น อย่างไรมีน้ำหรือไม่ ลักษณะของน้ำเป็น อย่างไร ใสหรือขุ่นไหลหรือนิ่ง มีองค์ประกอบอะไรบ้างเช่น มีก้อนหินหรือสิ่งกีดขวางที่ชะลอการไหลของน้ำหรือไม่เป็นต้น และสุดท้ายเป็นการบันทึกความหลากหลายหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่พบในบริเวณที่รับผิดชอบ มีตัวอะไรบ้างเสือหมีช้างกระทิงยี ราฟฯลฯ พบเห็นอะไรถ่ายภาพได้ให้ถ่ายมา หรือไม่เห็นตัวเจอแต่อึก็ถ่ายอึ เรียกว่าอย่าให้รอดสายตาไปได้ ทั้งหมดที่ว่ามานี้มีเวลาให้ถึงเที่ยงวัน!

 เพราะการบริหารเวลาให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มการเรียนรู้ของเราเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กๆเป็นผู้นำ ดังนั้นต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ หากเนิ่นนานมากไปกว่านี้คุณลูกๆ คงเบื่อและอาจไม่ยอมร่วมมือ ดังนั้นเวลาในช่วงบ่ายจึงจัดไว้สำหรับการนำข้อมูลดิบที่ได้มาแปรเป็น "ข้อมูลสุก" และนำเสนอให้เป็นข้อมูลร่วมเพื่อที่จะได้นำข้อมูลของเรามาปะติดปะต่อกับข้อมูลของกลุ่มอื่นๆ จนเกิดเป็นภาพใหญ่ที่มีนัยยะสำคัญของสิ่งที่เรามาเรียนรู้กันในครั้งนี้
   
พอถึงบริเวณที่ถูกเลือกเอาไว้ก่อนหน้าพวก เราแต่ละกลุ่มก็ทำการจับจองพื้นที่ 6x5 เมตรของตนให้เป็นที่พอใจแล้วเริ่มลงมือทำการสำรวจและบันทึกตามขั้นตอนและวิธีการที่ซักซ้อมกันมาอย่างดีทันที น่าแปลกใจมากที่พื้นที่ 30 ตรม.ซึ่งไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เมื่อเรานั่งลงให้เวลาและสังเกต กลับพบว่ามีรายละเอียดมากมายน่ามหัศจรรย์ 30ตรม.ในตอนนี้ใหญ่เกินไปเสียแล้ว เพราะทุกตารางนิ้วคือชีวิต ถ้าไม่ใช่ต้นไอ้นั่นก็ตัวไอ้นี่เป็นสังคมขนาดเล็กที่ใหญ่มหึมา ดูเหมือนว่าทุกต้นทุกตัวทุกซอกหลืบแสงเงามีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง มีชีวิต มีเรื่องที่ต้องทำ มีความสัมพันธ์กัน ฉันกินแก แกกินฉัน ฉันอึเอาไว้ตรงนี้แกไม่ว่าอะไรนะ เออไม่เป็นไรฉันชอบอึ ของแก อากาศทำไมมันร้อนอย่างนี้ว่ะ นี่โชคดีนะที่เมื่อวานซืนฝนเทลงมา ไม่งั้นฉันคงไม่มีแรงแทงรากลงดิน 

เอะอะ อึกทึก สับสนอลหม่าน...
อย่างเงียบเชียบ...
กิน เกิด ตาย มืด สว่าง...
อย่างสมดุล...

ครอบครัวของเราแบ่งงานกันทำตามความถนัด หลังจากขึงเชือกกำำหนดอาณาเขตเป็นที่เรียบร้อยแล้วพ่อเป็นคนวัดขนาดของต้นไม้โดยวัดเส้นรอบ วงของต้นไม้ที่ความสูงจากโคนต้น 130 ซม. จากนั้นประมาณความสูงของต้นคร่าวๆ พี่มะลิเป็นคนบันทึกข้อมูลรวมทั้งพลอตตำแหน่งของต้นไม้ลงบนตารางจำลองพื้นที่ ส่วนขมิ้นเป็น visualizer วาดภาพลักษณะของต้นไม้นั้นๆ เพื่อใช้ประกอบข้อมูลส่วนแม่ทำหน้าที่ snap ภาพรายละเอียดต่างๆรวมทั้งบรรยากาศการทำงานโดยรวมอีกทีหนึ่ง


สภาพป่าหนาแน่นที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า เมื่อพิจารณาจำแนกประเภทพรรณไม้ตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่าพื้นที่รับผิดชอบของเรามีไม้ยืนต้นเพียง 4 ต้นและมีเพียงต้นเดียวที่เป็นไม้ใหญ่ที่มีเส้นรอบวงมากกว่า 30 ซม. นอกจากนั้นเป็นไม้พุ่มซึ่งมีความสูงน้อยกว่า 3 เมตรจำนวนไม่ถึง 20ต้น ที่มีจำนวนมากที่สุดได้แก่ลูกไม้ที่ยังมีขนาดเล็กสูงไม่เกินหัวเข่าขึ้นเบียดเสียดปกคลุมหน้าดิน เราคำนวณคร่าวๆ ได้ราว 600 ต้น เมื่อประกอบเข้าด้วยกันก่อให้เกิดเป็นลักษณะเรือนยอดหลายระดับชั้นลดหลั่นตามธรรมชาติของชนิดพรรณไม้และอายุ แหงนหน้าขึ้นมองดูฟ้าเห็นแผงสีเขียวกระจายตัวกันหนาแน่นปกคลุมทั่วพื้นที่โดยยอมให้แดดส่องลงมาเป็นหย่อมกระจายตัวบนพื้นป่า หากกะด้วยสายตาคงจะราว 70%-80%ที่เป็นร่มเงา พิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าทุกชีวิตปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อม แสง น้ำ อาหาร รวมถึงชีวิตอื่นๆที่แวดล้อม เกิดเป็นระบบที่ดูเหมือนไม่มีระเบียบ ยิ่ง ใหญ่แต่อ่อนโยนและบอบบางมาก 30 ตารางเมตรที่ยืนอยู่นี้คือความเป็นจริงของพื้นที่ 5 แสนไร่ของป่าปางสีดาและผืนป่าดงพญาเย็น หากซูมภาพให้ไกลออกมาอีก โลกทั้งใบก็คงไม่ได้แตกต่างไปจากนี้
 
     
หลังจากใช้เวลากันเต็มที่ก็ถึงเวลาพักกินอาหารกลางวันที่เตรียมเข้าไปตั้งแต่เช้า ใช้เวลาช่วงสั้นๆ แล้วรีบเก็บข้อมูลต่อจนครบถ้วนกระบวนความที่เวลาราวบ่ายโมงพอดี เรากลับออกมาล้างหน้าล้างตาพักเหนื่อยที่บ้านพักครู่ใหญ่ๆ ก่อนจะไปรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดระเบียบข้อมูลดิบที่ได้บันทึกมา ก่อนแปลงข้อมูลเป็นภาพแผนภูมิแสดงตำแหน่งและความหนาแน่นของพรรณไม้ให้ดูเข้าใจง่ายและสวยงามตามจินตนาการของแต่ละกลุ่ม  บรรยากาศการทำงานอบอวลด้วยมิตรภาพสนุกสนานอบอุ่น มีบลัฟกันเล็กน้อยเพื่อสร้างความเฮฮาจนกระทั่งจบวัน พรุ่งนี้เช้าวันสุดท้ายของทริปเราจะมาคุยกันถึงกิจกรรมที่ร่วมกันทำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการและปัญหาที่พบในการทำงานรวมถึงนำเสนอผลงานของตนเอง



5 พฤษภาคม 2555 
นอนหลับสบายดี
รู้สึกตัวตั้งแต่ฟ้าสาง แต่ยังอยากนอนเล่นฟังเสียงนกที่ไม่เคยได้ยินมาร้องเพลงให้ฟังที่หลังบ้านอีกซักพัก เช้านี้แม่จิ๋มและจิโร่แวะมาร่ำลาเพื่อนฝูงเพราะต้องแยกตัวเดินทางไปภูเขียวแต่เช้าตรู่ ขับรถคนเดียวลุยเดี่ยวพาลูกชายตัวเล็กไปชัยภูมิเก่งจริงๆ หลังทานอาหารเช้าเรียบร้อยที่ร้านของอุทยาน ก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมสืบค้นต้นน้ำที่ป่าปางสีดาในครั้งนี้ พวกเราผลัดกันนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติต่างๆ ผลงานที่ทำออกมาสำเร็จแล้วนั้นสวยงามน่าดูทุกกลุ่ม สามารถนำมาเรียงต่อกันเพื่อให้เกิดเป็นภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นและหลากหลายของพรรณไม้ได้อย่างน่าสนใจ

ปิดท้ายกิจกรรมสืบค้นต้นน้ำที่ห้วยน้ำเย็นอุทยานแห่งชาติปางสีดาด้วยความสำเร็จตามเป้าหมาย(ของเราเอง) ครอบครัวของเราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของพื้นที่ต้นน้ำและความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำท่า มองเห็นทั้งรายละเอียดและภาพรวม น้ำแล้งเพราะอะไร น้ำท่วมเพราะอะไร และน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เพราะอะไร ได้เห็นที่มาของน้ำ เปิดก็อกน้ำแล้วนึกออกชัดเจนว่าน้ำมาจากไหน เป็นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เกิดเป็นความรู้และความเข้าใจอย่างที่การอ่านหรือการฟังคำบอกเล่าไม่สามารถให้ได้

สำหรับลูกๆสิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นโอกาสในการซึบซับความเข้าใจใหม่ๆ ด้วยความหวังว่า ประสบการณ์ใหม่ครั้งนี้จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ในจิตใจและเกิดเป็นความประทับใจที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นสำนึกรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมของเขา เพราะได้เห็นตามความเป็นจริงที่ว่าเราคือส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาตินี้ เราไม่ได้มีความแตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ที่มีหน้าที่ของตัวเองในการดำรงชีวิต แต่ต้องเป็นการดำรงชีวิตที่อยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเราจะขึ้นและลงไปกับพร้อมกับธรรมชาติอย่างแน่นอน เราพร้อมและตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับออกไปสู่วงสังคมที่กว้างขึ้น ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ขอบคุณกลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติิสำหรับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากเหลือเกิน ขอบคุณพ่อนกแม่กั้งน้าเกรียงสำหรับความเสียสละในการทำงานและความมุ่งมั่นที่ทุกคนมี ขอบคุณทุกครอบครัวและครอบครัวของเราเองที่ทำให้เราได้มาพบกัน และขอบคุณสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนที่ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ขึ้นครับ

บ้านเรียนมะลิ-ขมิ้น






ภาพถ่ายแสดงการปกคลุมของเรือนยอด ถ่ายจากจุดกึ่งกลางของพื้นที่ที่ทำการเก็บข้อมูล มีความหนาแน่นของเรือนยอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์


ข้อมูลพรรณไม้
เชิงปริมาณ
1. พื้นที่หน้าตัดเท่ากับ 425 ตร.ซม. โดยไม่คิดลูกไม้ที่มีความสูงไม่เกิน 30 ซม.
ผลรวมจำนวนพรรณไม้ประมาณ 600 ต้น
ผลรวมจำนวนชนิดพรรณไม้ประมาณ 50 ชนิด
โดยมีการปกคลุมของเรือนยอดหนาแน่นประมาณ70-80 เปอร์เซ็นต์
2. ค่าเฉลี่ยความหนาของชั้นอินทรีย์วัตถุที่ปกคลุมดิน 2.8 ซ.ม.
3. ลำห้วยประกอบไปด้วยก้อนหินหลากหลายขนาดทอดตัวไปตาม ความคดเคี้ยวของลำห้วยมีเศษใบไม้กิ่งไม้ปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวน
มาก น่าจะสามารถชะลอการไหลของน้ำได้ดี
4. สิ่งมีชีวิต จำนวนชนิดความหลากหลาย 11 ชนิด
ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด

เชิงคุณภาพ
ประกอบไปด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด และหลากหลายขนาด ทำให้เกิดเป็นเรือนยอดที่ลดหลั่นกันหลายระดับ โดยมีความหนาแน่น ของเรือนยอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ บนพื้นป่ามีการทับถมของอินทรีย์วัตถุมากมายรวมทั้งมีพืชขนาดเล็กปกคลุมดินอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการลดแรงปะทะของน้ำฝนและช่วยชะลอการไหลของน้ำบนผิวดินได้เป็น
อย่างดี นอกจากนั้นยังสามารถพบเห็นร่องรอยของสัตว์หลากหลาย ขนิดซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์



6 comments:

Anonymous said...

เยี่ยมมากๆครับ

Mali and Camin on the Blog said...

ขอบคุณครับน้าเกรียง พยายามไล่ลงรูปให้ครบ ใช้เวลาพอสมควร อาจจะโตๆหยุดๆเป็นช่วงๆไปแหงเลย

kenjiro said...

ทำเป็นpocketbookขายได้เลยนะเนี็ย

Mali and Camin on the Blog said...

ไม่เอาอ่ะ กลัวดัง

Mali and Camin on the Blog said...

ไม่กลัวจน(เลย)

Salinee Han said...

พาป้าไปเที่ยวป่าบ่อยๆนะป้าชอบแต่ไม่มีโอกาส